เกี่ยวกับโครงการ

อ่านแล้ว 462 ครั้ง

การระบาดใหญ่ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขที่ซับซ้อน มีพลวัตสูง และส่งผลกระทบทั้งด้านสุขภาพ เศรษฐกิจ สังคม และการเมือง ทั้งระดับประเทศและระดับนานาชาติ การวางแผนและตัดสินใจเชิงนโยบายโดยผู้กำหนดนโยบายในประเทศไทยมักมีรากฐานมาจากการใช้ข้อมูลและความคิดเห็นจากผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน แต่เนื่องจากกระบวนการสร้างความรู้กระแสหลักมุ่งเน้นการแยกแยะศาสตร์ออกเป็นแขนงต่างๆ โดยเน้นการพัฒนาความรู้จากผู้เชี่ยวชาญซึ่งมีความรู้เชิงลึก ส่งผลให้กระบวนการตัดสินใจเชิงนโยบายเพื่อการแก้ไขปัญหาการระบาดใหญ่ของโรคโควิด-19 มีแนวโน้มของการคิดแบบแยกส่วน (compartmentalized thinking) เช่น มีการแบ่งการตัดสินใจเชิงนโยบายออกเป็นมาตรการด้านการควบคุมโรค มาตรการด้านการจัดการทรัพยากรในระบบบริบาลสุขภาพเพื่อรองรับผู้ป่วย และมาตรการเยียวยาผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการระบาดใหญ่ การตัดสินใจแบบแยกส่วนเช่นนี้อาจก่อให้เกิดผลเสียที่ไม่คาดคิด โดยเฉพาะการตัดสินใจเชิงนโยบายในช่วงภาวะวิกฤตฉุกเฉิน เช่น การระบาดใหญ่ของโรคโควิด-19 ก่อให้เกิดผลกระทบโดยตรงต่อระบบสุขภาพในแง่จำนวนผู้ติดเชื้อที่ทำให้เกิดภาระงานในระบบสุขภาพที่มากขึ้น มีผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงจนถึงขั้นเสียชีวิตจำนวนมาก ทำให้ตั้งแต่เริ่มมีการระบาดระลอกแรกผู้กำหนดนโยบายจำเป็นต้องเน้นการดำเนินนโยบายเพื่อเพิ่มขีดความสามารถของระบบบริการสุขภาพเพื่อรองรับผู้ป่วยโรคโควิด-19 เป็นหลัก

ดังนั้น ภาวะวิกฤตที่มีความซับซ้อนและมีพลวัตสูงได้ก่อให้เกิดความกดดันอย่างมากต่อผู้กำหนดนโยบาย จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้กำหนดนโยบายและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในกระบวนการนโยบายต้องมีความเข้าใจหลักการทางระบาดวิทยา การควบคุมโรค และเข้าใจกระบวนการคิดและการจัดการเชิงระบบในสถานการณ์ที่มีความไม่แน่นอนและมีความซับซ้อน จุดคานงัดที่สำคัญเพื่อการวางแผนตัดสินใจเชิงนโยบายที่มีประสิทธิผลมากขึ้น คือ การพัฒนากระบวนการตัดสินใจเชิงนโยบายในภาวะวิกฤตบนพื้นฐานของหลักฐานวิชาการ หรือ evidence-informed policy-making (EIPM) ซึ่งเป็นความท้าทายต่อผู้กำหนดนโยบายที่จะใช้กระบวนการวิชาการนำในการตัดสินใจท่ามกลางความกดดันรอบด้านจากสาธารณะ และมีข้อจำกัดจากความไม่แน่นอนของข้อมูลและความซับซ้อนของทั้งระบบสุขภาพ เศรษฐกิจ และสังคม การพัฒนาช่องทางพื้นฐาน (platform) เพื่อสร้างการสื่อสารระหว่างนักวิชาการผู้ผลิตองค์ความรู้กับผู้กำหนดนโยบายที่มีประสิทธิผลและประสิทธิภาพอาจจะช่วยแก้ปัญหาช่องว่างดังกล่าวได้ การมองภาพการระบาดเป็นปัญหาที่ซับซ้อน (complex problem) และการประยุกต์ใช้การคิดเชิงระบบ (systems thinking) และหลักระบาดวิทยา(epidemiology) จึงมีความสำคัญและอาจเป็นกุญแจสำคัญที่นำไปสู่กระบวนการวางแผนและตัดสินใจเชิงนโยบายที่มีประสิทธิผล

โครงการการพัฒนาระบบสนับสนุนการตัดสินใจเชิงนโยบายในการจัดการภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขเพื่อการสร้างขีดความสามารถของประเทศไทยในการปรับตัวของระบบสุขภาพในการระบาดใหญ่ของโรคโควิด-19 มุ่งเน้นกระบวนการพัฒนาขีดความสามารถด้านสาธารณสุขฉุกเฉินของประเทศไทย ผ่านกระบวนการพัฒนากำลังคนและการอภิบาลระบบ การพัฒนาระบบสนับสนุนการตัดสินใจเชิงนโยบายบนฐานความรู้ ใช้ข้อมูลเป็นตัวขับเคลื่อนกระบวนการนโยบาย โดยมีเป้าหมายใหญ่ในการพัฒนา “ระบบสุขภาพที่มีการเรียนรู้” (learning health systems) ปรับการดำเนินงานเชิงนโยบายภายในระบบสุขภาพให้เหมาะสมกับชีวิตวิถีใหม่ มีประสิทธิผล มีประสิทธิภาพ และเป็นธรรม ควบคุมการระบาดใหญ่ได้ และลดผลกระทบในการอยู่ร่วมกับโรคโควิด-19 ได้อย่างยั่งยืนในทุกมิติ

- คลิกที่นี่ - เพื่อดาวน์โหลดข้อเสนอโครงการ 


ค้นหา
CopyRight © 2024 Southern Health Foundation (SHF)